พระลักษมี
พระลักษมี หรือ พระมหาลักษมี เป็นเทพีในศาสนาฮินดู
โดยเป็นเทพีแห่งความร่ำรวย โชคชะตา ความรัก ความงาม ดอกบัว และความอุดมสมบูรณ์
รูปเคารพของพระแม่ลักษมีนั้นนอกจากจะพบในศาสนสถานของศาสนาฮินดูแล้ว
ยังพบในศาสนสถานของศาสนาเชนและศาสนาพุทธ ในบางแห่งอีกด้วย
พระลักษมีนั้นมีความคล้ายคลึงกันกับเทพีของกรีกองค์หนึ่ง
คือเทพีอะโฟร์ดิตี้โดยที่เทพีทั้งสองนี้ ถือกำเนิดจากมหาสมุทรเหมือนกัน
และเป็นตัวแทนของความสวยงามเหมือนกันอีกด้วย นอกจากนั้น พระแม่ลักษมี
มีกำเนิดจากฟองน้ำ ในคราวเทวดาและอสูร กวนเกษียรสมุทร ทำน้ำอมฤต จึงได้นามว่า
ชลธิชา (เกิดแต่น้ำ) หรือ กษีราพธิตนยา(พระธิดาแห่งพระสมุทร)
ในขณะที่ผุดขึ้นมานั้นนั่งมาในดอกบัวและมือถือดอกบัวด้วย จึงมีอีกนามหนึ่งว่า
ปัทมา หรือ กมลา แต่ในคัมภีร์วิษณุปุราณะจะกล่าวไว้ว่า
พระแม่ลักษมีเป็นธิดาของพระฤๅษีภฤคุกับนางขยาติ
และยังกล่าวต่อไปอีกว่าพระแม่ลักษมีเป็นมารดา พระกามเทพด้วย
พระแม่ลักษมี
ผู้ศรัทธาจะถือกันว่าเป็น เทพนารีผู้อำนวยโชค มีน้ำพระทัยเมตตาปราณีอยู่เป็นนิจ
เป็นตัวอย่างแห่งนางที่งามตลอดทั้งรูปและกิริยามารยาท
มีวาจาเปี่ยมด้วยเสน่ห์และไพเราะ ทั้งถือกันว่าเป็นผู้นำมาซึ่งความเจริญทุกประการ
นับกันว่าเป็นผู้อุปถัมภ์บรรดาสตรีทุกชั้น ส่วนรูปมักเขียนเป็นสตรีที่งามยิ่งมี 2
กรอย่างธรรมดา (บางแห่งก็ว่ามี 4 กร) สีกายเป็นสีทองเสื้อทรงสีเหลือง
นั่งหรือยืนบนดอกบัวและมือถือดอกบัว
พระแม่ลักษมี เป็นชายาของ พระวิษณุ
เมื่อพระวิษณุได้อวตารเป็นพระราม พระแม่ลักษมีก็ได้อวตารตามไปเป็นนางสีดา
และเมื่อพระวิษณุอวตารเป็นพระกฤษณะ ในปางกฤษณาวตาร พระวิษณุอวตารเป็น พระกฤษณะ
พระแม่ลักษมีก็ไปเป็น พระนางรุกมิณี หรือ พระนางราธาเทวี
ในปางปรศุรามาวตารก็ไปอวตารเป็น พระแม่ธรณี ในปางวามนาวตารก็อวตารไปเป็น
พระนางกมลา เป็นต้น
คติความเชื่อถือเกี่ยวกับพระแม่ลักษมีในเมืองไทยอาจเห็นว่า
ไม่พบมากนักนอกจากปรากฏในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์
ที่เสด็จอวตารลงมาเป็นนางสีดาในรามาวตาร ซึ่งเป็นชนวนเหตุของการรบ ระหว่างทศกัณฐ์
กับพระราม นอกจากนั้นก็ไม่พบได้เด่นชัดนัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น